วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

จะสอบให้ผ่านวิชา...ยากๆ ได้อย่างไร

มีนักศึกษาที่เข้าเรียนกับผมหลายคนส่ง Email มาถามหรือโทรมาให้ผมช่วยแนะนำว่า "จะสอบวิชา...ยากๆ ให้ผ่านได้อย่างไร"

(ผมขอละไว้ว่าวิชาอะไรนะครับเพราะไม่อยากพาดพิงถึงอาจารย์ที่สอนวิชานั้น ซึ่งก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของผมในการที่จะตอบคำถามนี้แล้วสร้างความขัดแย้งกับท่านอาจารย์ผู้นั้น เพียงแต่ต้องการสร้างกำลังใจให้กับนักศึกษาที่มาเรียนกับผมให้ตั้งใจเรียนเพื่อจบการศึกษาเท่านั้น)



เอาละมาดูกันว่าวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาวิชา...ยากๆ ได้หรือเปล่า ก่อนอื่นพวกเราต้องเข้าใจก่อนว่าอาจารย์ก็คือคนๆ หนึ่งมีชิวิตจิตใจ มีพื้นฐานที่มาแตกต่างกัน เพื่อนของผมบางคนเรียนจบเกียรตินิยมแล้วไปเรียนต่อจากนั้นก็มาเป็นอาจารย์ เวลาเรียนเขาก็ไม่ค่อยเข้าสังคมกับใครไม่ค่อยชอบทำกิจกรรมหรืองานสังคมใดๆ เพราะเขาคิดว่าการไปทำกิจกรรมจะทำให้เขาเสียเวลาในการดูตำรา เขามุ่งมั่นที่จะเรียนให้ได้เกรดดีที่สุดเพราะคิดว่าการได้เกรดดีๆ จะทำให้เขามีโอกาสต่างๆ ในอนาคตหน้าที่การงานดีกว่าเพื่อนๆ ในรุ่นหรือในกลุ่มเดียวกัน ต่อมาพอเรียนจบเพื่อนผมคนนั้นก็เรียนจบ 3 ปีครึ่ง พร้อมเกรดเกียรตินิยมอันดับ 1 จากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทด้วยเกรดเกียรตินิยมอันดับ 1 อีก จบโทออกมาก็ไปเป็นอาจารย์สอนในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งด้วยความภาคภูมิใจในผลการเรียนที่ได้รับก็คาดหวังกับนักศึกษาที่มาเรียนกับตัวเอง แล้วก็ถือทิฐิมากสอนอยู่เกือบ 10 ปีมีคนเรียนผ่านครั้งเดียวแค่ไม่กี่คน เพราะเธอคิดว่าสมัยเรียนในระดับปริญญาตรีเธอเองต้องใช้ความมานะพยายามอย่างมากต้องอ่านหนังสืออย่างหนักทำแบบฝึกหัดเช้ายันเย็นกว่าจะได้เกรด A มา เธอก็เลยคาดหวังว่านักศึกษาที่เป็นลูกศิษย์ต้องทำอย่างเธอถึงจะได้เกรด A หรือสอบผ่าน หากใครไม่ทำอย่างที่เธอคาดหวังเธอก็คิดง่ายๆ ว่า “พวกเด็กเหล่านี้ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของฉัน ก็ไม่สมควรเรียนจบออกไปและมาบอกว่าเป็นลูกศิษย์ฉัน” ในห้วงเวลาเดียวกันเพื่อนผมอีกหลายๆ คนที่เรียนมากกว่า 4 ปีกว่าจะจบ จบออกมาด้วยเกรดปากการอตตริ๊ง ก็คือจบแบบ 2.01 หรือ 2.02 อะไรทำนองนั้น คนพวกนี้ส่วนใหญ่เรียนนานเพราะชอบทำกิจกรรมจึงมีโอกาสเรียนรู้ชีวิตมากและมีโอกาสในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมนานกว่า พอเรียนจบออกมาส่วนใหญ่ก็ไปทำงานเป็น Sale ขายอาหารสัตว์ ปุ๋ย หรือยารักษาสัตว์และพืช เป็นต้น พอได้เริ่มงานคนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้ามีลูกล่อลูกชนทำให้ลูกค้าเองอุดหนุนสินค้าในเวลาอันรวดเร็ว มีคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงมากโดยได้เป็นผู้จัดการหลังจากจบมาไม่ถึง 10 ปี เงินเดือนก็สูงกว่าใครๆ ในรุ่น แต่มันเองไม่เคยทิ้งเพื่อนใครมีอะไรให้ช่วยเหลือมันก็ไปช่วยหมด เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ก็ส่งเสริมให้มันเติบโตอย่างรวดเร็ว คราวนี้มีอยู่ครั้งหนึ่งในงานเลี้ยงรุ่นคนที่เป็นอาจารย์กับคนที่เป็นผู้จัดการก็มาเจอกัน หลังจากได้พูดคุยกันเพื่อนคนที่เป็นอาจารย์ก็เปรยขึ้นมาว่า “ทำไมเราเรียนได้เกรดดี แต่ตอนนี้เป็นข้าราชการเงินเดือนไม่กี่บาท แต่ไอ้เพื่อนเราคนนั้นมันเรียนตั้ง 7 ปีกว่าจะจบ แต่ตอนนี้มันเป็นผู้จัดการได้เงินเดือนเยอะกว่าเราตั้งเยอะ เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมเขาให้คนที่เรียนไม่ดีได้เติบโตก็ไม่รู้” จากนั้นเพื่อนคนนี้ก็กลับไปสอนโดยมีความเข้มงวดกับนักศึกษามากขึ้น เพราะเธอคิดว่าในเมื่อเธอมีรายได้น้อยกว่าเพื่อน แต่เธอมีอำนาจในการให้เกรดกับลูกศิษย์ได้ เธอก็จะบอกกับสังคมทางอ้อมว่าเธอเองก็มีความสามารถ (พิเศษเหนือกว่าผู้อื่น) ใครจะว่ายังไงก็ไม่สนใจ ยิ่งมีคนต่อว่าเยอะยิ่งทำให้เธอภูมิใจเพราะเธออยากบอกกับสังคมว่าเธอมีความรู้เหนือผู้อื่น นี่เป็นตัวอย่างที่จะบอกว่าอาจารย์ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน และแต่ละคนก็มีภูมิหลังที่แตกต่างกันไป แต่นี่เป้นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นอาจารย์ที่เก่งและดีก็มีอีกมากมายมหาศาล อาจารย์บางท่านทั้งเรียนเก่งได้เกียรตินิยมแถมยังทำกิจกรรมทุกรูปแบบและช่วยเหลือสังคมด้วย อาจารย์บางท่านเรียนเก่งแถมมีเทคนิคการสอนที่เยี่ยมยอดก็มีเยอะ เพราะฉะนั้นอยากให้เข้าใจก่อนว่าอาจารย์ก็คือคนทั่วๆ ไป นี่เองไม่ใช่คนที่พวกเราจะต้องไปมองว่าเขาเป็นตัวประหลาดอะไร แต่ในฐานะที่ผมก็เป็นอาจารย์คนหนึ่งผมบอกได้เลยว่าผมเองยินดีให้เกรดที่เหมาะสมกับคนที่ตั้งใจเรียน มาเข้าเรียนสม่ำเสมอ ทำรายงานส่งด้วยความใส่ใจ เพราะอย่างน้อยเราได้แสดงให้เห็นว่าเรามี "ความรับผิดชอบ" ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้ที่ผมตั้งใจนำมาสอนให้กับคนที่มาเรียนกับผม


เอาละลองมาดูว่าถ้าพวกเราจะลองดูวิธีนี้จะช่วยให้เราสอบผ่านวิชา...ยากๆ ได้หรือเปล่า เริ่มจากถ้าจะสอบให้ผ่าน สำหรับคนที่สอบไม่ผ่านก็ต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ก่อน จากนั้นตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เริ่มเรียนเลยให้ทุกคนอ่านเนื้อหามาก่อนแล้วสอบถามอาจารย์ในสิ่งที่ไม่เข้าใจโดยตลอด และอย่าลืมพูดกับอาจารย์เลยว่า “ถ้าหากพวกเราจะทำคะแนนเรียนให้ประสบผลสำเร็จในวิชานี้จะต้องทำอย่างไร” คิดว่าอาจารย์เขาน่าจะบอกว่า “พวกคุณก็ต้องทำแบบฝึกหัดเยอะๆ” คราวนี้ก็ให้พวกเราเตรียมทำแบบฝึกหัดมาก่อนแล้วเอาแบบฝึกหัดมาถามอาจารย์เพื่อให้อาจารย์แนะนำว่าพวกเราทำถูกหรือผิด จากนั้นก็ทำอย่างนี้ทุกๆ ชั่วโมง หรือแม้กระทั่งหลังเลิกเรียนก็เอาแบบฝึกหัดไปถามอาจารย์ด้วย ยิ่งจะสอบ Midterm หรือ Final ก็ยิ่งต้องทำแบบฝึกหัดแล้วเอาไปให้อาจารย์ช่วยตรวจทาน ผมเชื่อว่าวิธีนี้น่าจะได้ผล เพราะหากสิ่งที่อาจารย์ช่วยแนะนำแล้วบอกว่าถูกต้องและพอสอบแล้วพวกเราทำได้ แต่กลับได้คะแนนน้อยเราก็จะสามารถแย้งกับอาจารย์ได้ว่าตามตัวอย่างแบบฝึกหัดที่อาจารย์บอกว่าถูกต้อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำลงในข้อสอบก็น่าจะถูกต้อง และพวกเราเองก็มีหลักฐานพอที่จะขอตรวจสอบได้



ท้ายนี้ก็ขอให้ทุกคนที่ยังสอบวิชา...ยากๆ ไม่ผ่านสอบผ่านโดยเร็ว สำหรับเรื่องเกรดวิชา HRIS คิดว่าทุกคนจะได้เกรดตามที่ตนเองคาดหวัง สวัสดี อ.เสก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น