อัตราการหยุดงานมีการคิด 3 แบบดังนี้
1. อัตราการหยุดงานรวม คืออัตราชั่วโมงหรือวันที่พนักงานไม่ได้มาทำงานทั้งหมดต่อจำนวนชั่วโมงหรือวันที่พนักงานมาทำงานแบบเต็มจำนวน เช่น หากบริษัทแห่งหนึ่งมีพนักงาน 100 คน ทำงานวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-17.00 น. มีพนักงานไม่มาทำงานในเดือนพฤษภาคม 2552 รวมทั้งสิ้น 80 วัน สูตรการคำนวณก็จะเป็น อัตราการหยุดงานของเดือนพฤษภาคม 2552 = (80 วัน x 100) / (19 วันทำงานในเดือนพฤษภาคม x พนักงาน 100 คน) = 4.21% แต่หากคิดแบบละเอียดมากขึ้นจะคิดในฐานของชั่วโมงการทำงาน โดยนับรวมการลาหรือขาดงานนับเป็นชั่วโมง เช่น หากบริษัทแห่งหนึ่งมีพนักงาน 100 คน ทำงานวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-17.00 น. มีพนักงานไม่มาทำงานในเดือนพฤษภาคม 2552 รวมทั้งสิ้น 300 ชั่วโมง สูตรการคำนวณก็จะเป็น อัตราการหยุดงานของเดือนพฤษภาคม 2552 = (300 ชั่วโมง x 100) / (19 วันทำงานในเดือนพฤษภาคม x 8 ชั่วโมงทำงานต่อวัน x พนักงาน 100 คน) = 1.97%
2. อัตราการหยุดงานแบบมีการวางแผนการลาล่วงหน้า คืออัตราชั่วโมงหรือวันที่พนักงานลางานโดยมีการวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อน (เช่น การลาพักร้อน การลาบวช การลาเพื่อฝึกอบรม) ต่อจำนวนชั่วโมงหรือวันที่พนักงานมาทำงานแบบเต็มจำนวน ซึ่งคำนวณอัตราการหยุดงานแบบที่ 2 นี้ จะใช้ในการวัดว่าประสิทธิภาพในการจัดการของหัวหน้างานดีเพียงใด เพราะยิ่งหัวหน้างานสามารถบริหารการลาแบบทราบล่วงหน้าได้อย่างลงตัวจะทำให้มีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมได้ วิธีการคำนวณก็เหมือนแบบที่ 1 แต่เปลี่ยนจำนวนการไม่มาทำงานรวม เป็นนับเฉพาะการไม่มาทำงานโดยการวางแผนการลาล่วงหน้าเท่านั้น
3. อัตราการขาดงาน (ไม่มีการวางแผนการลา) คืออัตราชั่วโมงหรือวันที่พนักงานลางานโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อน (เช่น การลาป่วย การขาดงาน เป็นต้น) ต่อจำนวนชั่วโมงหรือวันที่พนักงานมาทำงานแบบเต็มจำนวน ซึ่งคำนวณอัตราการหยุดงานแบบที่ 3 นี้ จะใช้ในการวัดในเรื่องสุขภาพของพนักงานกับการวัดความผิดปกติที่อาจเกิดจากการดูแลลูกน้องของหัวหน้างานว่าดีเพียงใด เพราะยิ่งหัวหน้างานสามารถขจัดการลาแบบไม่มีการวางแผนล่วงหน้าออกไปได้มากเพียงใด นั่นหมายถึงประสิทธิภาพในการวางแผนการผลิตจะทำได้ดีมากขึ้น เพราะจะสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นว่าพนักงานจะมาทำงานคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์และไม่มากี่เปอร์เซ็นต์ และต้องวางแผนจ่าย OT ไว้เท่าไหร่ ซึ่งหากอัตราการขาดงานในข้อ 3 สูงมากๆ จะทำให้การวางแผนงบประมาณในจ่ายค่าล่วงเวลาทำได้ยาก เพราะไม่สามารถคาดคะเนตัวเลขอัตราการหยุดงานแบบที่ 3 ได้อย่างแน่นอน สำหรับการคิดคำนวณอัตราขาดงานนี้ก็คิดแบบเดียวกันกับแบบที่ 1 แต่เปลี่ยนชั่วโมงการขาดงานปกติเป็นชั่วโมงการขาดงานแบบไม่มีการวางแผนล่วงหน้าเท่านั้น
ในการใช้อัตราการหยุดงานอย่างถูกต้องควรดูทั้ง 3 ส่วนประกอบกัน โดยดูในภาพรวมว่าบริษัทของเรามีพฤติกรรมการหยุดงานของพนักงานอย่างไร เป็นแบบวางแผนล่วงหน้าได้หรือแบบไม่มีการวางแผนล่วงหน้ามากกว่ากัน เพราะหากพบว่าพนักงานมีการหยุดงานแบบไม่มีการวางแผนล่วงหน้ามากๆ อาจมีการส่งสัญญาณที่ไม่ดี อาทิเช่น มีโรคระบาดหรือโรคที่เกิดจากการทำงานหรือไม่ หรือมีการจงใจป่วยการเมืองเพราะหัวหน้างานหรือไม่ เป็นต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น