วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กลยุทธ์การรับสมัครงานในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติขาดแคลนแรงงาน กรณีการรับสมัครแรงงานภายในประเทศ

  • ในภาวะปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ถึงกลางปี 2552 มีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วง 2-3 เดือนมานี้หลายบริษัทเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพส่วนตัว อีกส่วนหนึ่งอายุเกินกว่าที่ตลาดแรงงานส่วนใหญ่ต้องการ อีกส่วนหนึ่งสามารถปรับระดับตำแหน่งของตนเองไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งกลับไปทำนา เพราะราคาข้าวมีราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก


  • ในฐานะที่ผมเองเคยทำงานด้านการรับสมัครงานมาระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงที่บริษัทที่ทำงานในขณะนั้นต้องการพนักงานใหม่สัปดาห์ละ 350 คน ผมจึงมีโอกาสได้ทำกิจกรรมการสรรหาผู้สมัครงานมาหลากหลาย บ้างเป็นไปตามตำราและหลักทฤษฎี และมีไม่น้อยที่คิดค้นหาวิธีกันเอง จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย โดยได้คัดเลือกกิจกรรมที่ทำแต่เฉพาะเวลาที่ขาดแคลนแรงงานในระดับพนักงานปฏิบัติการทั่วไปมานำเสนอ และเอาแต่เฉพาะแรงงานภายในประเทศก่อน ส่วนแรงงานต่างด้าวผมก็เคยมีประสบการณ์มาแบ่งปันให้ทุกท่านเหมือนกัน แต่ขอเป็นครั้งหน้านะครับ

1. การมอบรางวัลแนะนำผู้สมัครให้พนักงาน (Employee Referrals)
คือ การสรรหาโดยผ่านการแนะนำของพนักงานที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน โดยออกประกาศแจ้งพนักงานในการให้รางวัลแนะนำผู้สมัครงาน ทั้งนี้ รางวัลแนะนำผู้สมัครงานนี้อาจเป็นเงินหรือสิ่งของหรืออาจจะไม่ต้องมีอะไรให้เลยก็ได้ แต่บริษัทควรมีการแสดงความขอบคุณต่อพนักงานโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งหากให้รางวัลเป็นเงิน เงินรางวัลนี้จะให้ตามระดับของตำแหน่งที่ขาดแคลน เช่น ระดับพนักวานทั่วไปให้ผู้แนะนำคนละ 500 บาทต่อผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 1 คน เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทต้องกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น จ่ายเงินหรือให้ของขวัญ เช่น ผ้าขนหนู หรือเสื้อยืด หรือเงินให้ผู้แนะนำส่วนหนึ่งทันทีเมื่อผู้สมัครที่แนะนำมาผ่านการคัดเลือก (ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกแล้วไม่มาเริ่มงาน จะไม่ถือรวมในเกณฑ์การจ่ายนี้) และจ่ายเงินส่วนที่เหลือเมื่อพนักงานใหม่ผ่านทดลองงาน นอกจากนี้ควรระบุให้ชัดเจนด้วยว่าหากพนักงานผู้แนะนำลาออกก่อนที่พนักงานใหม่ที่แนะนำมาจะครบทดลองงาน พนักงานผู้นั้นจะได้รับเงินอย่างไร



2. ป้ายประกาศรับสมัครงานขนาดใหญ่ (Sign Board)


คือ การจัดทำป้ายประกาศรับสมัครงานขนาดใหญ่ปิดตามจุดที่มีกลุ่มแรงงานเป้าหมายผ่าน เช่น หากต้องการแรงงานภาคกลางและภาคอีสานอาจปิดตรงสามแยกถนนมิตรภาพจังหวัดสระบุรี หรือถ้าต้องการแรงงานที่อยู่ภาคอีสานก็อาจปิดป้ายที่ถนนมิตรภาพ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งการจ้างทำป้ายโฆษณานี้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น หากรวมกลุ่มหลายๆ บริษัทช่วยกันออกค่าใช้จ่ายก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายลดลงได้ ซึ่งป้ายที่ปิดประกาศนี้ควรมีข้อความสั้นๆ กระชับ ได้ใจความ ใช้เวลาอ่านไม่มาดก็เข้าใจและจำได้ เพราะผู้อ่านจะมองผ่านเพียงแวบเดียวในระหว่างที่เดินทางผ่านป้ายประกาศไป


3. ตั้งศูนย์รับสมัครงานต่างจังหวัด (Remote Recruitment Office)


คือ การตั้งศูนย์รับสมัครงานในจังหวัดที่มีแรงงานเป้าหมายจำนวนมาก เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา นครสวรรค์ พิษณุโลก สุพรรณบุรี เป้นต้น ทั้งนี้ บริษัทอาจใช้วิธีการจ้าง Outsource ช่วยรับสมัครแล้วให้เงินค่าจ้างเป็นรายหัวก็ได้ โดยบริษัทอาจนัดหมายวันที่จะมาทำการสัมภาษณ์ผู้สมัครสัปดาห์หรือเดือนละครั้งก็ได้


4. ประชาสัมพันธ์และรับสมัครผ่านตัวแทนชุมชน (Community Leader Recruitment)


คือ การไปสร้างความสัมพันธ์กับตัวแทนชุมชนต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลจากบริษัท แต่มีกลุ่มเป้าหมายที่มีแรงงานอยู่ เช่น กำนัน ผู้ใฆญ่บ้าน แล้วตั้งให้ตัวแทนชุมชนช่วยหาคนและรับสมัครงานไว้ จากนั้นบริษัทจึงไปทำการคัดเลือกพนักงาน โดยอาจกำหนดเป็นช่วงเวลา สัปดาห์หรือเดือนละครั้ง จากนั้นบริษัทก็ให้ค่าหัวผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งกิจกรรมนี้ผู้ที่จะไปทำการคัดเลือกผู้สมัครควรเดินทางไปด้วยรถตู้เพื่อรับผู้ผ่านการคัดเลือกไปเริ่มงานได้ทันที
สำหรับชุมชนที่จะเดินทางไปติดต่อรับสมัครงานนี้ บริษัทอาจใช้การติดต่อผ่านทางพนักงานปัจจุบันที่ทำงานอยู่ในบริษัทแนะนำให้ก็ได้


5. ร่วมประชุมประจำเดือนกับตัวแทนชุมชน (Join Government Officer Monthly Meeting)


คือ การเข้าร่วมประชุมประจำเดือน ช่วงต้นเดือนของทุกเดือน ซึ่งโดยปกติผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีการเชิญประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประจำเดือนละครั้ง บริษัทสามารถขอเวลาของที่ประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์การรับสมัครผ่านทางเวทีนี้ได้ โดยปกติจะใช้วิธีการนี้ร่วมกับวิธีที่ 4 โดยการให้ค่าหัวผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่บริษัทควรนัดหมายกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อไปทำการคัดเลือกผู้สมัครในชุมชนนั้นๆ สัปดาห์หรือเกือนละครั้ง ในการติดต่อขอเข้าร่วมประชุมนี้บริษัทอาจติดต่อไปที่หน้าห้องผู้ว่าฯ เพื่อตรวจสอบและนัดหมายขอเข้าร่วมประชุมก่อนเพื่อให้การเข้าร่วมกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


6. การแจกใบปลิวรับสมัครงานในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในต่างจังหวัด (Leaflet Distribution in Local School)
คือ การขอเข้าไปแจกใบปลิวรับสมัครงานในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในต่างจังหวัด เพื่อให้นักเรียนได้นำใบปลิวกลับไปให้ผู้ปกครองที่บ้าน และบริษัทอาจขอโอกาสทางโรงเรียนเพื่อประชาสัมพันธ์การรับสมัครงานในช่วงเช้าตอนประชุมเคารพธงชาติของโรงเรียนด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ควรเลือกโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากๆ เพื่อให้การกระจายข่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และควรฝากใบปลิวส่วนหนี่งไว้ที่โรงเรียนด้วย


7. การแจกใบปลิวรับสมัครงานตามสถานีขนส่ง (Leaflet Distribution in Public Transportation)


คือ การทำหนังสือขอไปแจกใบปลิวรับสมัครงานตามสถานีขนส่งสำคัญๆ ต่างๆ เช่น หัวลำโพง หมอชิต สถานีรถไฟดอนเมือง ชุมทางภาชี หรือสถานีขนส่งสายใต้ เป็นต้น บริษัทอาจจ้าง Outsource ไปช่วยแจกใบปลิวให้ก็ได้


8. การจัดเวทีการแสดงเพื่อประชาสัมพันธ์รับสมัครงาน (Performance Show & Job Promotion)


คือ การว่าจ้างวงดนตรี หรือการแสดงไปแสดงในชุมชนเป้าหมายในต่างจังหวัด แล้วใช้เวทีดังกล่าวประชาสัมพันธ์และแจกใบปลิวรับสมัครงาน โดยการประสานงานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของชุมชนล่วงหน้า และเจ้าหน้าที่บริษัทอาจอยู่ในชุมชนต่อเพื่อรับสมัครงานในวันรุ่งขึ้นได้


สงวนลิขสิทธิ์ โดย นายเสกสิทธิ คูณศรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น