วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

MS-Excel: การนับจำนวนวันทำงานในรอบเดือน/ไตรมาส/ปี



พอจะถึงปีใหม่ชาว HR หลายคนก็ต้องทำการคำนวณหาจำนวนวันทำงานในรอบเดือนหรือไตรมาสหรือทั้งปี
ใน Excel มีฟังก์ชั่นอันหนึ่งมาช่วยในการนับจำนวนวันโดยหักวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้ด้วย โดยใช้ฟังก์ชั่น NETWORKDAYS ตามตัวอย่างครับ
ลองเอาไปปรับใช้ดู น่าจะพอช่วยงานได้บ้างนะครับ

สงวนลิขสิทธิ์ โดยนายเสกสิทธิ  คูณศรี (30 พ.ย.2552)

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แรงงานสัมพันธ์และกฏหมายแรงงาน

แรงงานสัมพันธ์และกฏหมายแรงงาน

(บทความนี้ได้รับมาจากคุณ Vichate Nilkaopeeb และได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ทั่วไปจากผู้เขียนแล้ว)


แรงงานสัมพันธ์ (Labor Relation) หรืออาจจะเรียกได้ว่า พนักงานสัมพันธ์ (Employee Relation) หรืออุตสาหกรรมสัมพันธ์ (Industrial Relation) เป็นความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้อง หรือการปฏิบัติต่อกันระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายนายจ้าง หรือฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายจัดการฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายลูกจ้าง หรือฝ่ายพนักงาน หรือฝ่ายผู้ปฏิบัติงานอีกฝ่ายหนึ่ง

แรงงานสัมพันธ์ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง จะส่งผลทั้งในทางบวกและทางลบต่อกระบวนการบริหารงานภายในองค์การ กระบวนการผลิต และการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง ส่งต่อสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ของฝ่ายลูกจ้าง รวมทั้งส่งผลต่อสภาวการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศด้วยเช่นกัน ลักษณะงานของนักแรงงานสัมพันธ์ จะเกี่ยวข้องกับการลงโทษ การเลิกจ้าง การลดกำลังคน การเปลี่ยนหรือลดสภาพการจ้าง การเจรจาต่อรอง ข้อพิพาทแรงงาน การปิดงานและการนัดหยุดงาน และการสู้คดีในศาล เป็นต้น

ภารกิจของนักแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการของนายจ้าง และความต้องการของลูกจ้าง

บทบาทของนักแรงงานสัมพันธ์ที่ดี จะต้องพยายามให้เกิดการยอมรับจากบุคคล 4 ฝ่าย อันได้แก่

· นายจ้าง

· ผู้บังคับบัญชา

· สหภาพแรงงาน

· ลูกจ้าง

จนเกิดเป็น “4 ความเชื่อ” กล่าวคือ

1. ต้องทำให้นายจ้างเกิดความเชื่อใจ

2. ทำให้ผู้บังคับบัญชาเกิดความเชื่อมือ

3. ทำให้สภาพแรงงานเกิดความเชื่อถือ

4. ทำให้ลูกจ้างเกิดความเชื่อมั่นในการทำงาน

สำหรับกฎหมายแรงงาน ( Labor Law) หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง องค์การของนายจ้าง และองค์การของลูกจ้าง รวมทั้งมาตรการที่กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์การดังกล่าวต้องปฏิบัติต่อกันและต่อรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การจ้างงาน การใช้แรงงาน การประกอบกิจการ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปอย่างเหมาะสม ต่างได้รับประโยชน์ที่พอเพียง อันจะมีผลทำให้เกิดความสงบสุข ความเจริญ และความมั่นคงแก่นายจ้าง ลูกจ้าง สังคม และประเทศชาติ

ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนี้ จำเป็นต้องทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยสังเขป กฎหมายแรงงานของประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีอยู่หลายฉบับ และมีการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติอยู่เสมอ กฎหมายแรงงานที่สำคัญและควรรู้มีอยู่ 6 ฉบับดังต่อไปนี้

1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 6 การจ้างแรงงาน เป็นกฎหมายที่กล่าวถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ถือว่าเป็นการจ้างแรงงาน เงื่อนไขในการจ่ายค่าจ้าง และเงื่อนไขในการเลิกจ้างแรงงานต่อกัน ทั้งนี้ถือว่าการจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่อันจะต้องปฏิบัติต่อกัน

2. พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นการกำหนดขั้นตอนและวิธีการที่นายจ้างและลูกจ้างจะยื่นข้อเรียกร้องต่อกัน กระบวนการในการเจรจาต่อรอง ขั้นตอนในการระงับข้อพิพาทแรงงาน เงื่อนไขในการนัดหยุดงานหรือปิดงาน และบทบาทของรัฐในการระงับข้อพิพาทแรงงาน นอกจากนี้ยังรวมถึงการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์การนายจ้าง องค์การลูกจ้าง และการกระทำอันไม่เป็นธรรมด้วย ในส่วนของพนักงานรัฐวิสาหกิจได้มีการออกพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 กำหนดความสัมพันธ์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจและฝ่ายบริหารไว้ต่างหาก

3. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายที่กำหนดกระบวนการฟ้องคดีในศาลแรงงาน และวิธีที่ศาลแรงงานจะพิจารณาคดี ซึ่งเน้นในหลักการสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรม เพื่อผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรม และความสงบสุขด้านแรงงานสัมพันธ์ของประเทศ

4. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม การส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน และการให้ประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตนในลักษณะต่างๆ

5. พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงหน้าที่นายจ้างในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน และในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน

6. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานแรงงานในกิจการ รวมถึงชั่วโมงทำงาน เวลาพัก วันหยุด วันลา การคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ เงินชดเชย ระเบียบข้อบังตับ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และอำนาจพนักงานตรวจแรงงาน

ประเด็นเรื่องแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายแรงงาน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง จะทำให้บุคคลและองค์การทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดความสุข ความเจริญ และความมั่นคงทั้งแก่นายจ้าง ลูกจ้าง สังคม และประเทศชาติ

โดยคุณ Vichate Nilkaopeeb วันที่ 30 พ.ย. 2552

MS-Excel: การนับอายุงาน (Year of Service) หรือายุพนักงาน (Age)


การนับอายุงาน (Year of Service) หรืออายุพนักงานทำได้โดยการใช้ฟังก์ชั่น Datedif ซึ่งโปรแกรมจะคำนวณวันเริ่มต้นจนถึงวันสุดท้ายให้โดยนับแบบวันชนวัน เพราะฉะนั้นการนับแบบนี้จะไม่มีโอกาสผิดพลาด และหากให้โปรแกรมนับถึงวันปัจจุบัน (สูตรคือ TODAY()) เมื่อเปิดไฟล์ขึ้นมาโปรแกรมก็จะนับอายุถึงตอนที่เปิดโปรแกรมให้เองอัตโนมัติ

การคิดอัตราการมาทำงาน (Attendant Rate) กับอัตราการขาดงาน (Absenteeism Rate)


มีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าจะคิดอัตราการมาทำงาน (Attendant Rate) กับอัตราการขาดงาน (Absenteeism Rate) อย่างไร ก็ดูวิธีคิดคามตัวอย่างเลยครับ

การคิดอัตราการลาออก (Turnover Rate)


มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ และนิสิต นักศึกษา HR หลายคนส่งคำถามเกี่ยวกับวิธีการคิด Turnover หรืออัตราการลาออกมา ผมก็เลยเอามาสรุปให้ใน Sheet อันเดียวจะได้เห็นเปรียบเทียบ ว่ามีหลายวิธีในการคิดอัตราการลาออก ส่วนจะใช้แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ครับ

MS-Excel: การรวมวันที่มากกว่า 1 วันไว้ใน Cell เดียวกัน


มีนิสิตเขียนมาถามผมตามนี้ครับ


สวัสดีค่ะ อาจารย์ที่เคารพ


หนูมีเรื่องจะขอปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ Excel ค่ะ ตามเอกสารแนบ มีสูตรอะไรบ้างที่สามารถนำข้อความ (วันที่) 3 Columns มารวมเป็น Column เดียว โดยที่ค่าของวันที่ ไม่เปลี่ยนแปลงคะ หนูลองใช้สูตร =L91 & "-" &N91 แล้ว แต่ว่าวันที่มันเปลี่ยนเป็นตัวเลขอื่น ค่ะ

ขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะคะ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ


วิธีการก็คือใช้ฟังก์ชั่น TEXT มาช่วยดูตามรูปภาพครับ ขอให้ใช้งาน Excel ในงาน HR อย่างสนุกนะครับ

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

8. การจัดเวทีการแสดงเพื่อประชาสัมพันธ์รับสมัครงาน (Performance Show & Job Promotion)


7. การแจกใบปลิวรับสมัครงานตามสถานีขนส่ง (Leaflet Distribution in Public Transportation)


6. การแจกใบปลิวรับสมัครงานในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในต่างจังหวัด (Leaflet Distribution in Local School)


5. ร่วมประชุมประจำเดือนกับตัวแทนชุมชน (Join Government Officer Monthly Meeting)


4. ประชาสัมพันธ์และรับสมัครผ่านตัวแทนชุมชน (Community Leader Recruitment)


3. ตั้งศูนย์รับสมัครงานต่างจังหวัด (Remote Recruitment Office)


2. ป้ายประกาศรับสมัครงานขนาดใหญ่ (Sign Board)


1. การมอบรางวัลแนะนำผู้สมัครให้พนักงาน (Employee Referrals)





กลยุทธ์การรับสมัครงานในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติขาดแคลนแรงงาน กรณีการรับสมัครแรงงานภายในประเทศ

  • ในภาวะปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ถึงกลางปี 2552 มีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วง 2-3 เดือนมานี้หลายบริษัทเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพส่วนตัว อีกส่วนหนึ่งอายุเกินกว่าที่ตลาดแรงงานส่วนใหญ่ต้องการ อีกส่วนหนึ่งสามารถปรับระดับตำแหน่งของตนเองไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งกลับไปทำนา เพราะราคาข้าวมีราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก


  • ในฐานะที่ผมเองเคยทำงานด้านการรับสมัครงานมาระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงที่บริษัทที่ทำงานในขณะนั้นต้องการพนักงานใหม่สัปดาห์ละ 350 คน ผมจึงมีโอกาสได้ทำกิจกรรมการสรรหาผู้สมัครงานมาหลากหลาย บ้างเป็นไปตามตำราและหลักทฤษฎี และมีไม่น้อยที่คิดค้นหาวิธีกันเอง จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย โดยได้คัดเลือกกิจกรรมที่ทำแต่เฉพาะเวลาที่ขาดแคลนแรงงานในระดับพนักงานปฏิบัติการทั่วไปมานำเสนอ และเอาแต่เฉพาะแรงงานภายในประเทศก่อน ส่วนแรงงานต่างด้าวผมก็เคยมีประสบการณ์มาแบ่งปันให้ทุกท่านเหมือนกัน แต่ขอเป็นครั้งหน้านะครับ

1. การมอบรางวัลแนะนำผู้สมัครให้พนักงาน (Employee Referrals)
คือ การสรรหาโดยผ่านการแนะนำของพนักงานที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน โดยออกประกาศแจ้งพนักงานในการให้รางวัลแนะนำผู้สมัครงาน ทั้งนี้ รางวัลแนะนำผู้สมัครงานนี้อาจเป็นเงินหรือสิ่งของหรืออาจจะไม่ต้องมีอะไรให้เลยก็ได้ แต่บริษัทควรมีการแสดงความขอบคุณต่อพนักงานโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งหากให้รางวัลเป็นเงิน เงินรางวัลนี้จะให้ตามระดับของตำแหน่งที่ขาดแคลน เช่น ระดับพนักวานทั่วไปให้ผู้แนะนำคนละ 500 บาทต่อผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 1 คน เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทต้องกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น จ่ายเงินหรือให้ของขวัญ เช่น ผ้าขนหนู หรือเสื้อยืด หรือเงินให้ผู้แนะนำส่วนหนึ่งทันทีเมื่อผู้สมัครที่แนะนำมาผ่านการคัดเลือก (ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกแล้วไม่มาเริ่มงาน จะไม่ถือรวมในเกณฑ์การจ่ายนี้) และจ่ายเงินส่วนที่เหลือเมื่อพนักงานใหม่ผ่านทดลองงาน นอกจากนี้ควรระบุให้ชัดเจนด้วยว่าหากพนักงานผู้แนะนำลาออกก่อนที่พนักงานใหม่ที่แนะนำมาจะครบทดลองงาน พนักงานผู้นั้นจะได้รับเงินอย่างไร



2. ป้ายประกาศรับสมัครงานขนาดใหญ่ (Sign Board)


คือ การจัดทำป้ายประกาศรับสมัครงานขนาดใหญ่ปิดตามจุดที่มีกลุ่มแรงงานเป้าหมายผ่าน เช่น หากต้องการแรงงานภาคกลางและภาคอีสานอาจปิดตรงสามแยกถนนมิตรภาพจังหวัดสระบุรี หรือถ้าต้องการแรงงานที่อยู่ภาคอีสานก็อาจปิดป้ายที่ถนนมิตรภาพ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งการจ้างทำป้ายโฆษณานี้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น หากรวมกลุ่มหลายๆ บริษัทช่วยกันออกค่าใช้จ่ายก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายลดลงได้ ซึ่งป้ายที่ปิดประกาศนี้ควรมีข้อความสั้นๆ กระชับ ได้ใจความ ใช้เวลาอ่านไม่มาดก็เข้าใจและจำได้ เพราะผู้อ่านจะมองผ่านเพียงแวบเดียวในระหว่างที่เดินทางผ่านป้ายประกาศไป


3. ตั้งศูนย์รับสมัครงานต่างจังหวัด (Remote Recruitment Office)


คือ การตั้งศูนย์รับสมัครงานในจังหวัดที่มีแรงงานเป้าหมายจำนวนมาก เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา นครสวรรค์ พิษณุโลก สุพรรณบุรี เป้นต้น ทั้งนี้ บริษัทอาจใช้วิธีการจ้าง Outsource ช่วยรับสมัครแล้วให้เงินค่าจ้างเป็นรายหัวก็ได้ โดยบริษัทอาจนัดหมายวันที่จะมาทำการสัมภาษณ์ผู้สมัครสัปดาห์หรือเดือนละครั้งก็ได้


4. ประชาสัมพันธ์และรับสมัครผ่านตัวแทนชุมชน (Community Leader Recruitment)


คือ การไปสร้างความสัมพันธ์กับตัวแทนชุมชนต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลจากบริษัท แต่มีกลุ่มเป้าหมายที่มีแรงงานอยู่ เช่น กำนัน ผู้ใฆญ่บ้าน แล้วตั้งให้ตัวแทนชุมชนช่วยหาคนและรับสมัครงานไว้ จากนั้นบริษัทจึงไปทำการคัดเลือกพนักงาน โดยอาจกำหนดเป็นช่วงเวลา สัปดาห์หรือเดือนละครั้ง จากนั้นบริษัทก็ให้ค่าหัวผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งกิจกรรมนี้ผู้ที่จะไปทำการคัดเลือกผู้สมัครควรเดินทางไปด้วยรถตู้เพื่อรับผู้ผ่านการคัดเลือกไปเริ่มงานได้ทันที
สำหรับชุมชนที่จะเดินทางไปติดต่อรับสมัครงานนี้ บริษัทอาจใช้การติดต่อผ่านทางพนักงานปัจจุบันที่ทำงานอยู่ในบริษัทแนะนำให้ก็ได้


5. ร่วมประชุมประจำเดือนกับตัวแทนชุมชน (Join Government Officer Monthly Meeting)


คือ การเข้าร่วมประชุมประจำเดือน ช่วงต้นเดือนของทุกเดือน ซึ่งโดยปกติผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีการเชิญประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประจำเดือนละครั้ง บริษัทสามารถขอเวลาของที่ประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์การรับสมัครผ่านทางเวทีนี้ได้ โดยปกติจะใช้วิธีการนี้ร่วมกับวิธีที่ 4 โดยการให้ค่าหัวผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่บริษัทควรนัดหมายกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อไปทำการคัดเลือกผู้สมัครในชุมชนนั้นๆ สัปดาห์หรือเกือนละครั้ง ในการติดต่อขอเข้าร่วมประชุมนี้บริษัทอาจติดต่อไปที่หน้าห้องผู้ว่าฯ เพื่อตรวจสอบและนัดหมายขอเข้าร่วมประชุมก่อนเพื่อให้การเข้าร่วมกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


6. การแจกใบปลิวรับสมัครงานในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในต่างจังหวัด (Leaflet Distribution in Local School)
คือ การขอเข้าไปแจกใบปลิวรับสมัครงานในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในต่างจังหวัด เพื่อให้นักเรียนได้นำใบปลิวกลับไปให้ผู้ปกครองที่บ้าน และบริษัทอาจขอโอกาสทางโรงเรียนเพื่อประชาสัมพันธ์การรับสมัครงานในช่วงเช้าตอนประชุมเคารพธงชาติของโรงเรียนด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ควรเลือกโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากๆ เพื่อให้การกระจายข่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และควรฝากใบปลิวส่วนหนี่งไว้ที่โรงเรียนด้วย


7. การแจกใบปลิวรับสมัครงานตามสถานีขนส่ง (Leaflet Distribution in Public Transportation)


คือ การทำหนังสือขอไปแจกใบปลิวรับสมัครงานตามสถานีขนส่งสำคัญๆ ต่างๆ เช่น หัวลำโพง หมอชิต สถานีรถไฟดอนเมือง ชุมทางภาชี หรือสถานีขนส่งสายใต้ เป็นต้น บริษัทอาจจ้าง Outsource ไปช่วยแจกใบปลิวให้ก็ได้


8. การจัดเวทีการแสดงเพื่อประชาสัมพันธ์รับสมัครงาน (Performance Show & Job Promotion)


คือ การว่าจ้างวงดนตรี หรือการแสดงไปแสดงในชุมชนเป้าหมายในต่างจังหวัด แล้วใช้เวทีดังกล่าวประชาสัมพันธ์และแจกใบปลิวรับสมัครงาน โดยการประสานงานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของชุมชนล่วงหน้า และเจ้าหน้าที่บริษัทอาจอยู่ในชุมชนต่อเพื่อรับสมัครงานในวันรุ่งขึ้นได้


สงวนลิขสิทธิ์ โดย นายเสกสิทธิ คูณศรี