วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Effectively Engage Employees: High Performance or High Loyalty

ใช้หัวข้อเป็นภาษาอังกฤษ แต่เนื้อหาขอเป็นภาษาไทยนะครับ

ในห้วง 4-5 ปีที่ผ่านมากระแสของการสร้างความผูกพันต่อองค์กร (Engagement) ให้กับพนักงานถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะองค์กรใหญ่หรือองค์กรข้ามชาติฝั่งตะวันตกทั้งหลายให้ความสำคัญ ซึ่งกลุ่มองค์กรเหล่านี้มักจะมุ่งเน้นที่จะธำรงค์รักษาคนที่เรียกว่าเป็นดาวเด่น (Talent) หรือพวกพนักงานที่สร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น (High Performer) เอาไว้ให้ได้ มีทั้งโปรแกรมการพัฒนาที่เรียกว่าเป็นระดับ Executive ให้ มีการให้ทุนการศึกษา มีการให้ทำงานในตำแหน่งที่ท้าทายและเติบโตเร็วกว่าพนักงานคนอื่นๆ หรือแม้แต่กระทั่งให้ค่าจ้างและสวัสดิการที่พิเศษสุดๆ กว่าคนอื่น

แต่ท้ายที่สุดหลายองค์กรก็ล้มเหลวในการรักษาคนเก่งๆ เหล่านั้นไว้ เพราะยิ่งเก่งยิ่งดีก็ยิ่งมีคนมาเชื้อเชิญไปทำงานด้วย แถมยังสู้ราคาค่าตัวแบบชนิดที่เรียกว่าไม่เกี่ยวถ้าเก่งจริง เพราะอย่างน้อยเขาก็ประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณในการพัฒนาพนักงานคนนั้นไปได้ ถ้าเทียบกับผลตอบแทนที่องค์กรนั้นจะได้รับ จากการศึกษาและติดตามข้อมูลเชิงคุณภาพ (ยังไม่ได้รวบรวมเป็นเชิงปริมาณ) ผมจึงได้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งสำหรับสังคมไทยว่า "ยิ่งเก่งยิ่งรักษายาก" ซึ่งแนวคิดและกระบวนการในการรักษาคนไว้ในองค์กรแบบตะวันตกนี่ ก็ยังไม่มีคำตอบที่สามารถโต้แย้งปัญหานี้ได้อย่างหมดจด

ในอีกทางหนึ่ง ผมมีข้อสังเกตจากองค์กรในระดับ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นธุรกิจแบบครอบครัว (Family Business) เขาจะไม่ค่อยอยากรับคนที่เก่งมากๆ เข้ามาไว้ในองค์กร และคนที่เก่งๆ เองก็มักจะไม่มององค์กรในกลุ่มนี้เป็นตัวเลือกในการสมัครเข้าไปทำงาน เพราะความคาดหวังค่าตัวของพวกดาวเด่นทั้งหลายมักจะสูงตามเกรดหรือความเก่งของตนเอง สิ่งที่น่าสนใจคือองค์กรแบบไทยๆ นี้มักจะมองคนที่พอจะทำงานกับเขาได้และอยู่ได้นานๆ โดยเขาพยายามมองหาความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อองค์กร (Loyalty) มากกว่า ส่วนตัวของพนักงานที่พร้อมจะซื่อสัตย์ต่อองค์กรก็มักจะมองหาความจริงใจ ความสบายใจในการทำงาน และการดูแลแลและทำงานร่วมกันแบบพี่น้องหรือเป็นครอบครัวเดียวกันจากผู้บริหารของบริษัท ค่าจ้างสวัสดิการก็พออยู่ได้แต่เมื่อไหร่ลำบากมากๆ ไม่มีใครพอจะช่วยเหลือได้บริษัทก็ช่วยดูแลกันไป เป็นต้นว่า ตอนเปิดเทอมมีเงินค่าเทอมไม่พอ บริษัทก็ช่วยออกทุนการศึกษาหรือให้กู้ยืมแบบดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายจึงผูกพันกันได้โดยมีสิ่งที่เรียกว่า "อยู่กันแบบพี่น้อง" ซึ่งในความคิดผมมันตราตรึงและมีความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์มากกว่าคำว่า "จ้างให้อยู่"
ดังนั้น พี่น้องชาว HR ทั้งหลายที่ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ก็คงต้องศึกษา คิด ไตร่ตรอง และสังเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่มาจากฝั่งตะวันตกให้ดีก่อนนำมาใช้ ซึ่งความท้าทายของการสร้างความผูกพันต่อองค์กรในวิถีไทยก็ยังเป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันคิดค้นและสังเคราะห์ออกมาให้ได้ เราจะทำอย่างไรให้คนที่เก่งอยู่กับเราโดยที่เขารู้สึกว่าเขาได้อยู่อย่างเป็นพี่น้องกัน เพราะหากเราไปสร้างเงื่อนไขของการอยู่ร่วมกันโดยใช้เงินแล้วละก็ไม่มีวันที่องค์กรจะสามารถจ่ายเงินให้เขาอยู่กับเราได้ตลอดไป แต่ถ้าเขาทำงานก็เก่งช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและตัวพนักงานเองก็มีความสุขกับการทำงานแถมยังอยู่และผูกพันกันแบบครอบครัวไทยด้วย ก็จะทำให้เราได้ทั้งคนเก่งและคนที่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรอยู่ในองค์กรได้นานมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น